“กกร”. หวั่น “แอปทีมู”บุกไทยทำเอสเอ็มอีปิดตัวพุ่งร้องรัฐเข้มงวดสินค้าจีนนำเข้าด้อยคุณภาพ
2024-08-09 HaiPress
กกร. จี้รัฐเข้มงวดนำเข้าสินค้าจีนนำเข้าที่ด้อยคุณภาพ-แอปทีมูบุกไทย ส่งตรงจากโรงงานจีน หวั่นเป็นตัวเร่งบีบเอสเอ็มอีปิดตัวพุ่ง ชี้แค่ 6 เดือน ไทยขาดดุลจีน เฉียด 7 แสนล้านบาทแล้ว
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทยว่า ที่ประชุม กกร. มีความกังวลการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีนล่าสุด 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 67 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เมื่อเทียบจากปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน 19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 698,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.66% แล้ว ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งยังถูกซ้ำเติมจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนอย่าง TEMU (ทีมู) ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันต่อการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้
“ตอนนี้ถ้าให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ที่ประชุม กกร. ขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้างอีโคซิสเต็ม ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และซัพพลายเชนไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศและกติกาสากล
ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล ตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่รายงานโดยเครดิตบูโรยังมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือน พ.ค. สูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% สะท้อนภาพการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง เห็นว่า มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะเร่งรัดผันเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจโดยที่ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการยกระดับกลุ่มฐานราก และภาคการผลิต ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้ให้กับกิจการและแรงงานตลอดซัพพลายเชนอย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ลูกหนี้และภาคธุรกิจเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้หรือรวมหนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้ รวมทั้งเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีเป็นความจำเป็นเร่งด่วนโดยเฉพาะการกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา จะช่วยหนุนภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งการจ้างงานให้ฟื้นตัวดีขึ้นโดยเร็ว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนของปี 67 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67% จากช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า มีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้น 86.31% หรือเฉลี่ยเดือนละ 111 แห่ง และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ยโรงงานละ 27.12 ล้านบาท