หนี้เสีย NPL พุ่งสูง ‘รถ-บ้าน-เอสเอ็มอี’น่าห่วง จับตาปัญหาผ่อนชำระหนี้คืน
2024-08-28 HaiPress
แบงก์ชาติ เปิดตัวเลขหนี้เสีย NPL แตะ 5.408 แสนล้านบาท รถ-บ้านอาการหนัก ห่วงสัญญาณผ่อนชำระหนี้คืน
วันที่ 27 ส.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ เอ็นพีแอล ไตรมาส 2 ปี 67 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.408 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.84% ต่อจีดีพี จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค รถยนต์และบ้าน โดยติดตามการชำระหนี้ครัวเรือนที่ด้อยลง และ ธปท. ยังเป็นห่วงในกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อรถที่มีการค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือใกล้เป็นเอ็นพีแอล และกลุ่มสินเชื่อบ้านที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท หรือ กลุ่มบ้านต่ำกว่า 5 ล้านบาท ที่เริ่มเห็นสัญญาณว่าจะเกิดปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องการผ่อนชำระได้
ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็ม ใกล้เป็นเอ็นพีแอลอยู่ที่ 6.50% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่ถูกจัดชั้นเชิงคุณภาพ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ยืนยันว่า ไม่ได้มาจากบริษัทใหญ่ที่เป็นกลุ่มพลังงาน แต่เกิดจากที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวด และกันสำรองเผื่อหนี้สูญ ซึ่งเป็นผลจากเครดิตของลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งยืนยันว่า ไม่ใช่แค่รายเดียว มีหลายแห่ง เพราะหากมีรายเดียวจะไม่ได้ทำให้กระตุกขึ้นมา
ส่วนมาตรการคืนรถจบหนี้ เพื่อใช้แก้ไขปัญหากลุ่มหนี้เสียของกลุ่มรถยนต์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนั้น ยืนยันว่า มาตรการดังกล่าว บางสถาบันการเงินยังมีอยู่ในบางแห่ง ซึ่งรถยนต์มีข้อจำกัดไม่สามารถยืดอายุการผ่อนได้เหมือนที่อยู่อาศัยที่มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่ค่อยเห็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบยืดการชำระหนี้มากนัก เพราะมูลค่ารถหายไป แต่หากสถาบันการเงินจะทำมาตรการคืนรถจบหนี้ยังสามารถทำได้อยู่ โดยวิธีการทำปรับโครงสร้างหนี้มีหลากหลาย และต้องมองถึงความสามารถในการชำระหนี้ด้วย
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป คาดว่าจะขยายตัวสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กมาก หรือกลุ่มที่มีวงเงินต่ำกว่า 5 ล้านบาท ที่ ธปท. ค่อนข้างเป็นห่วง ขณะเดียวกันครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะทางการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คาดว่าส่งผลให้เอ็นพีแอลทยอยเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
“สิ่งที่ ธปท. ห่วงคือเอสเอ็มอีรายจิ๋ว หรือรายย่อยๆ ที่เป็นบุคคล ที่อาจยังไม่มีงบการเงิน ที่วงเงินต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งการเข้าถึงสินเชื่อยังมีข้อจำกัดบางส่วน อาจใช้สินเชื่ออุปโภคบริโภคเข้ามาใช้ในสภาพคล่องของธุรกิจ และที่เห็นคือกลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง ก็คือ สายป่านสั้น เงินทุนสั้น และนิติบุคคลก็เริ่มมี ที่เผชิญการแข่งขันเชิงโครงสร้าง และปัจจุบันเกิดหลุมรายได้ แต่เกิดภูเขาหนี้เกิดขึ้น โดยปัจจุบันรายได้ ฟื้นตัว แต่หนี้เสียยังไหล เพราะรายได้เพิ่มมาเพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้”
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดจะทำโครงการแฮร์คัทหนี้ คงต้องคุยในรายละเอียด สิ่งที่ ธปท. กังวล คือ ต้องป้องกันเรื่องมอรัล ฮัดซาร์ด ให้ได้ไม่ทำให้คนเป็นหนี้ดี กลายเป็นหนี้เสีย การแก้ปัญหาต้องตรงจุด เฉพาะกลุ่ม และไม่เป็นการทำให้ลดโอกาสของลูกหนี้ในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต