สบน.ยัน อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับ “น่าลงทุน”

2024-10-23 HaiPress

อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังอยู่ในระดับ “น่าลงทุน” ไม่ได้เสี่ยงลดลงอย่างที่ถูกวิเคราะห์

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการเงินภาคเอกชนแห่งหนึ่งได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้ม ปัจจัย ความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอชี้แจงและยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อีกทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ

โดยข้อเท็จจริง “จากการเผยแพร่รายงานการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่จัดทำโดย บริษัท S&P Global (S&P) และบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ที่มีการเผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และวันที่ 11 เมษายน 2567 ตามลำดับ ซึ่งเป็นรายงานบทวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันมากกว่าที่ศูนย์วิจัยฯ ภาคเอกชนดังกล่าวนำมาอ้างอิง โดยได้ระบุถึงแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศยังมีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับน่าลงทุน (Investment Grade) คือ ระดับ BBB+ หรือ Baa1 และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)”

ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยฯ ภาคเอกชนได้เผยแพร่บทวิเคราะห์และนำเสนอประเด็น “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง” โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท Fitch Ratings เป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลในรายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงรายเดียว โดยที่ไม่มีการนำข้อมูลจากทั้งจาก S&P และ Moody’s มาพิจารณาประกอบการจัดทำบทวิเคราะห์ด้วย ซึ่งทาง สบน. ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานกำกับดูแลและศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ภายหลังพบว่าได้แก้ไขปรับเปลี่ยนหัวเรื่องบทวิเคราะห์จาก “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง จาก BBB+ หรือไม่” เป็น “ปัจจัยท้าทายความเสี่ยงเครดิตเรตติงไทย” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 พร้อมกับได้เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ของศูนย์วิจัยฯ แล้ว

อนึ่ง กระทรวงการคลังโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีดำริให้ สบน. ติดตามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจผิดและความสับสนต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 เครือข่ายพันธมิตรธุรกิจแห่งประเทศไทย      ติดต่อเรา   SiteMap