กฟผ. ชูกลยุทธ์ Triple S เปลี่ยนผ่านพลังงานไทยสู่เป้าหมายใน COP29

2024-11-22 HaiPress

กฟผ.ร่วมเป็นคณะผู้แทนไทยนำเสนอผลงานบนเวที Thailand Pavilion ของการประชุม COP 29 พร้อมชูกลยุทธ์ Triple S นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality

นายเอกรัฐ สมินทรปัญญา ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ร่วมเป็นคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมในกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน นำโดย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ. ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านภาคพลังงานมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Energy Transition towards Carbon Neutrality) ชูกลยุทธ์ Triple S ได้แก่ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน

และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับพัฒนาโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่การสร้างคุณค่าร่วม Creating Shared Value (CSV) ให้กับสังคม ชุมชนรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการนำร่อง “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” เพื่อพัฒนาให้พื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นเมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้วย 3 แนวคิด คือ Smart Energy,Smart Environment และ Smart Economy รวมถึงเตรียมขยายผลยังพื้นที่เขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้ากระบี่

พร้อมด้วยนายชัชวาล วงศ์มหาดเล็ก และนายชาคริต เย็นที่ จากฝ่ายบริหารและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. ร่วมนำเสนอผลงานในหัวข้อ “From Waste to Solutions: Compostable Packaging and Biomass Products for a Cleaner Environment” โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแผ่น ซึ่งมีคุณสมบัติลดเสียงและความร้อน อีกทั้งยังลดการเผาวัสดุทางการเกษตรที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหา PM2.5 และภาวะโลกร้อน เพื่อช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมจัดนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology) ด้านพลังงานไฟฟ้า ภายใน Thailand Pavilion อาทิ

ENZY Platform ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ควบคุมและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบ Real Time ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานไฟฟ้าและข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อควบคุมแลแนะนำการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมแจ้งเตือนผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อมีปริมาณใช้ไฟฟ้าสูงเกินเป้าหมายEGAT EV Business Solutions ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย อาทิ บริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จแบบครบวงจร แอปพลิเคชัน EleXA แพลตฟอร์มสำหรับค้นหาสถานีชาร์จเพื่อวางแผนการเดินทางและจองชาร์จ BackEN EV ระบบบริหารจัดการโครงข่ายสถานีชาร์จและประมวลผลข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. (Floating Solar Project) ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

“กฟผ. มุ่งมั่นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้ามาพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ รองรับทุกการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ สร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ” นายเอกรัฐ กล่าวทิ้งท้าย

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 เครือข่ายพันธมิตรธุรกิจแห่งประเทศไทย      ติดต่อเรา   SiteMap