สรุปค่าเงินบาท ผันผวนอ่อนค่า-แข็งค่า เกาะติดเงินเฟ้อ-ราคาทองในสัปดาห์หน้า
2024-11-30 HaiPress
สรุปค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ ผันผวนอ่อนค่า-แข็งค่า จับตาสัปดาห์หน้าเกาะติดเงินเฟ้อไทย ราคาทองคำในตลาดโลก
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ หลังตลาดกลับมาประเมินโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือน ธ.ค. อีกครั้ง
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ ตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อประเด็นทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงการเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และเงินเยนซึ่งได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOJ ในเดือน ธ.ค.
ขณะที่ เงินดอลลาร์ เผชิญแรงขายสอดคล้องกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE เพิ่มขึ้นตามที่ตลาดคาด โดยข้อมูลดังกล่าว กระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้
ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 พ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,282.1 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 5,166 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 5,170 ล้านบาท หักด้วยตราสารหนี้หมดอายุ 4 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 2-6 ธ.ค. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.90-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน ต.ค. ดัชนี ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน พ.ย. ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือน ธ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน พ.ย. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน อังกฤษ ด้วยเช่นกัน