CPAXT เสี่ยงผิดหลักธรรมาภิบาลเรื่องไหน ฉุดหุ้นไทยหลุด 1,400 จุด
2024-12-18 HaiPress
CPAXT เสี่ยงผิดหลักธรรมาภิบาลเรื่องไหน ทำหุ้นไทยหลุด 1,400 จุด แล้วทำไม ก.ล.ต.ต้องมีหลักธรรมาภิบาล
วันที่ 17 ธ.ค. 67 ทำเอาดัชนีหุ้นไทยถึงกับหลุด 1,400 จุด จากปัจจัยกดดันต่างๆ ที่รุมเร้าในตลาดช่วงนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือ หุ้นเครือซีพีที่ยังพาเหรดกันร่วงต่อเนื่อง 2 วันติด ทั้ง ซีพีออลล์,ซีพี แอ็กซ์ตร้า,ซีพีเอฟ และทรู จากประเด็นเดิม ในเรื่องของปมถูกโยงว่า ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CPAXT ผิดธรรมาภิบาล กรณีนำบริษัทย่อย คือ บริษัท แอ็กซ์ตร้า โกรท พลัส จำกัด เข้าไปลงทุนในโครงการ The Forestias
ซึ่งโครงการ The Forestias มี นางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ บุตรสาวคนสุดท้องของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการนี้
ทำให้บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายรายคิดไปอีกมุมมองหนึ่งว่า บริษัทดังกล่าวทำรายการเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ และมองเป็น “ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล” และผลกระทบที่อาจเกิดจากทางด้าน ESG ด้วย
ธรรมาภิบาล (Good Governance) คือ หลักการที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลว่า เป็นระบบที่ทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และที่สำคัญเป็นไปอย่างโปร่งใส น่าเชื่อถือและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จึงเป็นหลักการที่หลายองค์กรได้ให้ความสำคัญในการนำมาปฏิบัติเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและพันธกิจที่กำหนดไว้
โดยธรรมาภิบาลใน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 เป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศทั้งตลาดแรกและตลาดรอง รวมถึงบุคลากรและสถาบันในตลาดทุน ในเรื่อง
(1) การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน
(2) ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
(3) ตลาดหลักทรัพย์และศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
(4) การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และ
(5) การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
นอกจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แล้ว สำนักงานยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดทุน ได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และในปี 2561 สำนักงานได้รับมอบหมายให้กำกับและควบคุมการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินการที่ผ่านมา สำนักงานได้ให้ความสำคัญกับการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นกับบุคคลที่กำกับดูแลและในองค์กรอย่างทั่วถึง
วัตถุประสงค์ของการจัดทำแนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต.
การจัดทำแนวทางธรรมาภิบาลเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของสำนักงาน ที่ต้องการผลักดันให้มีการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของสำนักงานสามารถบรรลุเป้าหมายและภารกิจในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยได้อย่างถูกทำนองคลองธรรม ตลอดจนเกิดคุณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานการกำกับดูแลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การจัดทำแนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต.
นอกจากศึกษาหลักการและแนวทางปฏิบัติของ OECD แล้วในการจัดทำแนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. สำนักงานยังได้ประมวลข้อมูลจากหลักการและแนวทางปฏิบัติของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์ และกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย โดยสำนักงานได้กำหนดกรอบธรรมาภิบาลสำหรับคณะกรรมการผู้บริหารและพนักงานดังนี้
(1) ความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ (accountability)
(2) ความสำนึกในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและมีประสิทธิภาพ (responsibibity)
(3) ความเคารพในสิทธิและการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างสุจริตและเท่าเทียมกัน รวมถึงการให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรม (equitable treatment and participation)
(4) การเปิดเผยข้อมูลและการดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ (transparency)
(5) การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน (internal control and intemal audit)
(6) การเพิ่มมูลค่าให้แก่ตลาดทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (value creation) โดยการพัฒนาปรับปรุง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
(7) การวางกรอบเชิงจริยธรรมและจรรยาบรรณ (code of conduct and code of ethics)
ทั้งนี้ แนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. ได้มีการทบทวนหลักการและแนวปฏิบัติให้เป็นปัจจุบันสอดคล้องกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่มีการแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะในส่วนที่กฎหมายกำหนด และเป็นหลักการด้านธรรมาภิบาล รวมทั้งเทียบเคียงกับแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลของหน่วยงานอื่นในตลาดทุนไทย บริษัทจดทะเบียน และหน่วยงานที่เป็นสากล เช่น หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เป็นต้น เพื่อให้มาตรฐานธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. มีความเข้มงวด และไม่ด้อยกว่ามาตรฐานธรรมาภิบาลที่กำหนดใช้กับหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลและมีความเป็นสากล