เปิด 6 เกณฑ์ใหม่ ก.ล.ต.คุมมาร์จิน
2025-01-10 IDOPRESS
เปิด 6 เกณฑ์ใหม่ ก.ล.ต.คุมมาร์จิน ป้องกันธุรกรรมนอกตลาด ผิดกฎหมาย
ปัจจุบัน บล. มีการให้บริการ margin loan แก่ผู้ลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน และที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่ามีหุ้นหลายตัวที่เป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จินมีราคาผันผวนและลดลงจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งเมื่อราคาหุ้นลดลงจะส่งผลกระทบกับมูลค่าหลักประกันจน บล. ต้องบังคับขายหลักประกัน แต่มูลค่าการบังคับขายหลักประกันอาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้จึงเกิดความเสียหายต่อ บล. และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม ประกอบกับ บล. บางแห่งมีการปล่อย margin loan ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะของตนเอง และ บล. หลายแห่งมีการปล่อย margin loan ที่กระจุกตัวในลูกค้าและหลักประกัน
นอกจากนี้ การบังคับขายหลักประกันที่เป็นหน่วยลงทุนอาจส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลดลงจนอาจนำไปสู่การไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่น ๆ ตามมา และอาจมีความเสี่ยงทางกฎหมายจากการบังคับขายทอดตลาดที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการปล่อยกู้ให้บุคคลกลุ่มเดียวกันโดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ (Loan Against Securities : LAS) ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธุรกรรม margin loan
ในปี 2568 นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้รื้อเกณฑ์ปล่อยมาร์จินใหม่ถึง 6 มาตรการ เพื่อป้องกันธุรกรรมนอกตลาดและผิดกฎหมาย
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ออก 6 เกณฑ์ใหม่คุมมาร์จินได้แก่
(1) ปรับปรุงอัตรามาร์จินเริ่มต้น (Initial Margin : IM) ของหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (หุ้น IPO) เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักประกันจะไม่เพียงพอชำระหนี้
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะของ บล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทุกรายรวมกัน และแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งให้รัดกุมยิ่งขึ้น
(3) กำหนดสัดส่วนการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของลูกค้าแต่ละราย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด และให้ บล. ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าเพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม
(4) กำหนดให้ บล. คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ของลูกค้าอย่างเหมาะสม ทั้งการเรียกให้ลูกค้านําเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นประกันเพิ่ม (call) และการบังคับชําระหนี้ (force) margin loan
(5) ยกเลิกหน่วยลงทุนจากการเป็นหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืมเพื่อซื้อในบัญชีมาร์จิน (marginable securities) และการเป็นหลักประกันในธุรกรรม margin loan และธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL)
(6) กำหนดให้ บล. มีมาตรการดูแลเพื่อให้การกู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จินเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริง (substance) ของธุรกรรมดังกล่าว เช่น กรณีที่การใช้ margin loan เพื่อซื้อหลักทรัพย์ big lot กับผู้เกี่ยวข้อง อาจมีลักษณะที่อาจเข้าข่าย Loan Against Securities ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ บล. ไม่สามารถให้บริการได้