วรวงศ์ ตั้งคำถาม ย้อนรอย 5 แผลลึก ผลงานในอดีต ธปท.

2025-07-15 IDOPRESS

ระอุต่อเนื่อง จากศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่า ธปท. โดย วรวงศ์ ตั้งคำถาม ย้อนรอย 5 แผลลึก ผลงานในอดีต ธปท. ชี้ “อิสระโดยไม่มีการตรวจสอบ” มีความอันตรายเช่นกัน

นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ Facebook ถึงการสรรหาผู้ว่าการ ธปท. โดยได้ย้อนทบทวน “5 บาดแผลเชิงนโยบาย” ของ ธปท. เพื่อชี้ให้เห็นว่า “อิสระโดยไม่มีการตรวจสอบ” อาจอันตรายยิ่งกว่าการเมืองที่เข้าแทรกแซง ซึ่งระบุว่า ธปท.กับความรับผิดชอบเชิงนโยบาย มองย้อนผ่านเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจไทย

ในฐานะคนที่ติดตามข่าวสารธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ผมมองว่า ธปท. ไม่ได้เป็นเพียงผู้กำกับดูแลนโยบายการเงินหรือผู้รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ หากแต่เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อทิศทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นองค์กรที่แทบไม่เคยถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างจริงจัง

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ธปท. มีทั้งผลงานที่ได้รับคำชื่นชม และการตัดสินใจเชิงนโยบายที่นำไปสู่ความเสียหายระดับประเทศ หลายเหตุการณ์ควรได้รับการทบทวนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อยืนยันว่าอิสระของธนาคารกลางนั้นไม่ใช่อภิสิทธิ์ที่ไร้การตรวจสอบ แต่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบต่อสาธารณะในระดับสูงสุด

1. วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ยังหลอกหลอนประเทศไทยมาถึงปัจจุบัน ในขณะนั้น ธปท. ยืนยันที่จะตรึงค่าเงินบาทไว้ในช่วงแคบ ๆ มีเงินกู้จากต่างประเทศไหลเข้าจำนวนมหาศาล ผ่านช่องทาง BIBF ซึ่งเป็นนโยบายที่เปิดทางให้เอกชนกู้เงินต่างประเทศโดยง่าย โดยไม่มีเครื่องมือรองรับความเสี่ยงอย่างเพียงพอ

แม้ IMF จะส่งสัญญาณเตือนแล้ว แต่ธปท. กลับเลือกใช้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้การโจมตีค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเงินสำรองแทบเกลี้ยง

ผลลัพธ์คือ GDP ปีถัดมาหดตัวกว่า 10% ค่าเงินบาทอ่อนค่าจาก 25 เป็นเกือบ 56 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดหุ้นพังทลาย จาก 1,200 จุด เหลือ 200 กว่าจุด บริษัทเงินทุน 56 แห่งปิดกิจการ เดือดร้อนรัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF วงเงินกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ ทิ้งภาระหนี้ในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไว้กับภาครัฐ 1.4 ล้านล้านบาท โดยที่ ธปท. ไม่เคยชำระคืนเงินต้นแม้แต่บาทเดียว

2. โครงการผ้าป่าช่วยชาติ: น้ำมนต์ขันน้อยในตุ่มทุนสำรองของประเทศ

หลังวิกฤต 2540 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เริ่มโครงการผ้าป่าช่วยชาติ เชิญชวนประชาชนบริจาคทองคำและเงินตราต่างประเทศเพื่อเติมทุนสำรองของประเทศ ภาพพระภิกษุสงฆ์ร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กลายเป็นเครื่องสะท้อนว่า สังคมไทย “ไม่ไว้ใจ” นโยบายของ ธปท.

ภายหลัง กลุ่มศิษย์ของหลวงตาได้เคลื่อนไหวต่อต้านความพยายามรวมบัญชีทุนสำรอง ธปท. ด้วยรายชื่อประชาชนกว่า 50,000 คน แม้เหตุการณ์นี้จะเงียบหายไปในเวลาต่อมา แต่ก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ความน่าเชื่อถือของธปท. ในบางช่วงนั้นลดต่ำจนประชาชนหมดศรัทธา จนต้องหันหน้าหาพระเถระเป็นที่พึ่งสุดท้าย

3. ธาริษา 100 จุด: มาตรการที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ

วันที่ 18 ธันวาคม 2549 ธปท. ภายใต้การนำของ ดร. ธาริษา วัฒนเกส ออกมาตรการ capital control อย่างปุบปับ บังคับให้นักลงทุนต่างชาติฝากเงินไว้ 30% เป็นเวลา 1 ปี หากถอนก่อนจะถูกหัก 1 ใน 3 ทันทีที่ข่าวแพร่ออก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลง 100 จุดในวันเดียว

แม้ ธปท. จะรีบออกมายกเว้นตลาดหุ้นในวันรุ่งขึ้น แต่นโยบายนี้ได้ทำลายความเชื่อมั่นของตลาดอย่างรุนแรงและทิ้งชื่อเหตุการณ์ “ธาริษา 100 จุด” ไว้เป็นบทเรียนทางนโยบายที่เจ็บปวดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

สิ่งที่ควรตั้งคำถามไม่ใช่แค่ความผิดพลาดเชิงเทคนิค แต่คือกระบวนการภายในของ ธปท. ว่าเหตุใดองค์กรที่ถือว่ามีบุคลากรระดับประเทศ จึงออกนโยบายกระทบตลาดนับแสนล้านบาท โดยไม่มีระบบเตือนภัยภายในหรือการศึกษาผลกระทบล่วงหน้า

4. ขาดทุนสะสม จนส่วนทุนติดลบ: โครงสร้างที่ไร้การตรวจสอบ?

ตั้งแต่ปี 2549 ธปท. มีสถานะ “ส่วนของทุนติดลบ” 69,765 ล้านบาท และติดลบสูงขึ้นมากตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดย ณ สิ้นปี 2555 ส่วนของทุนติดลบ 530,892 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.3% ของสินทรัพย์ ตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีท่าทีจะหยุด โดยในปี 2564 ขาดทุนสะสมทะลุ 1 ล้านล้านบาท

แม้จะมีคำอธิบายว่าเป็นผลจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย หรือ นโยบาย Inflation targeting และภาระดอกเบี้ยจ่ายในประเทศสูงกว่าดอกเบี้ยรับต่างประเทศ (Negative Carry) จึงเกิดคำถามที่ประชาชนสงสัยคือ เหตุใดธนาคารกลางของประเทศจึงดำเนินนโยบายจนขาดทุนสะสมเช่นนี้? ใครคือผู้ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้? ถึงเวลาที่ควรมีการตรวจสอบจากภายนอกอย่างจริงจังแล้วหรือยัง?

5. กองทุน BSF: ความระมัดระวัง หรือความลังเล?

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ธปท. ได้รับอำนาจจาก พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ให้ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ที่มีพื้นฐานดีแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่ออกใหม่ แม้จะมีเสียงคัดค้านว่าเป็นการขัดหลักการแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ หรือ Lender of last resort ของธนาคารกลางที่ไม่ควรเข้าไปช่วยภาคเอกชนโดยตรง โดยการแก้กฎหมาย จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่าง ธปท. ไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคต เพราะกฎหมายอนุญาตให้ ธปท. ใช้ดุลยพินิจในการให้ความอนุเคราะห์แก่บางรายและไม่ให้แก่บางราย โดยอ้างการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และเมื่อมีปัญหาเกิดการฟ้องร้อง ธปท. ก็จะต้องทำการฟ้องร้องบริษัทเอกชนโดยตรง ซึ่งจะทำให้เสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้ ประกอบกับ ธปท. สามารถจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเองโดยตรง ไม่ต้องแก้กฎหมายเพราะหลักการของกฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว แต่ก็มีฝ่ายสนับสนุนเห็นว่ากองทุน BSF เป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างสมเหตุสมผล

สุดท้าย ธปท. ไม่ได้ใช้กองทุนนี้ช่วยเหลือบริษัทรายใดเลย ทำให้เกิดคำถามว่า เพราะ “ระมัดระวังในการใช้อำนาจ” หรือ “ลังเลใจในทิศทางนโยบาย”

อิสระของธนาคารกลางต้องมาพร้อมการตรวจสอบได้

ในโลกที่สถาบันต่าง ๆ ถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง การดำรงอยู่ของธนาคารกลางที่ “เป็นอิสระจากรัฐบาล” แต่ “ปลอดจากการตรวจสอบของประชาชน” คือเรื่องที่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างตรงไปตรงมา

ธปท. มีอำนาจทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณเงินในระบบ หรือแม้แต่การควบคุมเงินทุนไหลเข้าไหลออก แต่กลับไม่มีพื้นที่ที่เพียงพอให้ประชาชนตั้งคำถาม หรือตรวจสอบบทบาทนั้นอย่างโปร่งใส

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

“เราจะทำอย่างไรให้ธนาคารกลางของไทยยังคงความเป็นอิสระ แต่ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดชอบต่อสาธารณะ?”

การสรรหาผู้ว่าการ ธปท. ไม่ควรเป็นเพียงการถกเถียงว่า

“ใครใกล้ชิดรัฐบาลหรือไม่” แต่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบกลไกใหม่ที่ เปิดเผยกระบวนการออกนโยบาย มีรายงานผลกระทบต่อประชาชน เปิดให้ภาคประชาสังคมมีสิทธิเสนอคำถาม ตรวจสอบความเสียหายจากนโยบายได้อย่างจริงจัง

เพราะเสรีภาพที่ปราศจากความรับผิดชอบ คือเสรีภาพที่ไร้ความหมาย

สุดท้ายนี้ขอยกคำกล่าวของมิตรสหายท่านหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนผมเอง ทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

“เส้นทางต่อไปจากนี้มี 2 ทาง

1.เราได้แบงก์ชาติที่ทำงานสอดคล้องกับรัฐบาล

2.เราได้รัฐบาลที่ทำงานสอดคล้องกับแบงก์ชาติ

…ซึ่งโดยสามัญสำนึกของคนทั่วไป รัฐบาลต้องมีส่วนในการเลือกแบงก์ชาติ

แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว เมื่อมองดีๆ แบงก์ชาติไทยก็มีส่วนในการเลือกรัฐบาลอยู่ไม่น้อย เพราะถ้ารัฐบาลมีนโยบายไม่ถูกใจแบงก์ชาติ แบงก์ชาติสามารถใส่เบรกเศรษฐกิจจนความนิยมในรัฐบาลลดลง และคนจะเลือกรัฐบาลใหม่จนกว่าจะเป็นรัฐบาลที่ทำงานสอดคล้องกับแบงก์ชาติได้ในที่สุด”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 เครือข่ายพันธมิตรธุรกิจแห่งประเทศไทย      ติดต่อเรา   SiteMap