‘พิชัย’ รมว.คลัง มั่นใจตลาดทุนไทยมีเสน่ห์ ปลดล็อกกองทุน-ประกันลงทุนในหุ้น

2025-05-27 IDOPRESS

“พิชัย” รมว.คลัง เปิดเวที “เดลินิวส์ ทอล์ก 2025” มั่นใจตลาดทุนไทยยังมีเสน่ห์ เดินหน้าปลดล็อกกฎหมายเปิดทางกองทุน/ประกันฯ ลงทุนในหุ้น-ชูแผนลงทุน 4 ล้านล้านบาท ในปี 68-71 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

วันที่ 26 พ.ค. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “เสน่ห์หุ้นไทย : พลังผลักดันเศรษฐกิจ” ภายในงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2025” ในหัวข้อ “ปลุกเสน่ห์หุ้น-คริปโทฯ ครึ่งปีหลัง 2025” จัดโดย เดลินิวส์ โดยเชื่อว่าถึงอย่างไรตลาดหุ้นไทยก็ยังมีเสน่ห์ ซึ่งอยู่ในช่วงจังหวะว่ามองอย่างไร และอยู่ที่แต่ละช่วงเวลา ซึ่งในเวลานี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก และมีความไม่แน่นอน ซับซ้อน ยากต่อการคาดเดา

“ขณะนี้มีเรื่องของการแข่งขันและการแย่งชิงอำนาจของประเทศมหาอำนาจ ในเรื่องการแข่งขันการค้า ซึ่งเรื่องการแข่งขันการเมืองและการค้าเป็นของคู่กัน เพราะเป็นเรื่องของปากท้อง เพื่อชิงความเป็นที่หนึ่ง ทำให้เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์”

ทั้งนี้ ในส่วนประเทศไทยจะเดินอย่างไร ท่ามกลางโลกไม่เหมือนเดิม และการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีเติบโตต่ำ เพราะ 1.จากในอดีตที่เคยเติบโตใกล้ 10% และลดระดับต่ำลงมา 4% 3% และ 1.9% เห็นว่าจีดีพีไทยเติบโตต่ำกว่าในอดีต 2.มีการเจริญเติบโตใกล้เคียงกับอาเซียน แต่จีดีพีไทยโตต่ำ 3.จีดีพีเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ แม้ไทยมีพื้นฐานได้เปรียบทั้งภูมิประเทศ สภาพอากาศ ทำให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพที่ดี แต่จีดีพีไม่โต

นายพิชัย กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ไทยช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จีดีพีมีการเติบโตต่ำ เพราะมีการลงทุนที่ต่ำ แต่ไม่ใช่การลงทุนภาครัฐ เป็นการลงทุนภาคเอกชนที่ต่ำ เพียง 20% ของจีดีพี หากเทียบในอดีตมีจีดีพี 11 ล้านล้านบาทแต่มีการลงทุนสัดส่วน 40% ของจีดีพี แต่ในตอนนี้แม้จีดีพีมีอยู่ 19 ล้านล้านบาท สัดส่วนลงทุน 20% เท่ากับหายไปครึ่งหนึ่ง

“การเติบโตจีดีพีลดลง คำถามคือ ทำไมไม่ลงทุน เมื่อไม่ลงทุน ก็เพราะไม่เห็นโอกาส และเมื่อไม่เห็นโอกาส ไม่ปรับตัว ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า เป็นเหตุผลที่ให้การลงทุนไม่เกิดขึ้น เพราะอาจเกิดจากโครงการลงทุนภาครัฐไม่ผลักดัน จึงทำให้การลงทุนเอกชนไม่เกิดขึ้น และเกิดคำถามนโยบายภาครัฐไม่ชัดเจน”

นอกจากนี้ โครงสร้างการลงทุนไทย เติบโตด้วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออก ปัจจุบันมีสัดส่วน 65% ของจีดีพี จากในอดีต 70% ซึ่งปัญหาที่ผ่านมายอดการส่งออกสูง แต่มีมูลค่าน้อย รายได้ไม่เข้าในประเทศ ทำให้อำนาจการซื้อหายไป และการบริโภคไม่ได้มีมากเท่าที่ควร ดังนั้นต้องเร่งทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต ให้มีมูลค่าสูง และไม่ให้โอเวอร์ซัพพลาย เป็นเรื่องที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การผลิต และบริการ

ขณะเดียวกันปัญหาที่ผ่านมายังเกิดจากกฎระเบียบในการทำธุรกิจของไทยไม่ได้รับความสะดวกสบาย ทำให้การลงทุนช้า เสน่ห์ก็จะหายไป ขณะที่เรื่องธรรมาภิบาลของทั้งรัฐและเอกชน ก็มีปัญหา มองว่า ไทยจะต้องแก้ไขเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะธรรมาภิบาลเรื่องภาษี ที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย ถ้าเก็บได้ตามเป้าหมาย จะสร้างขีดความสามารถประเทศได้อีกมาก เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้ต้องปรับวิธีการเก็บภาษีใหม่ ซึ่งหากฐานภาษีหายไป ทำให้หนี้สาธารณะสูง มีการขาดดุลเยอะขึ้น

ส่วนอีกเรื่องเป็นเรื่องนวัตกรรม เพราะเมื่อเกิดการลงทุนใหม่ แต่คนขาดศัยภาพ หากสามารถสร้างบุคลากรได้ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องการลงทุน ซึ่งส่งผลมาให้องค์กร และหุ้นไทยจะมีเสน่ห์มากขึ้น

นายพิชัย กล่าวว่า ได้ดูข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีโครงการต่างๆ ค่อนข้างมาก และมียอดวงเงินรวมถึง 4 ล้านล้านบาท ทำให้ได้สั่งการให้ไปบริหารจัดการแต่ละโครงการว่าอะไรที่สามารถทำได้บ้างในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 68-71

ทั้งนี้ หากดูจีดีพีไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา อยู่ระดับเกิน 3% แต่ไม่มีมูลค่ามากเท่าที่ควร โดยยอมรับว่าจีดีพีไตรมาสแรกแม้เติบโต 3.1% แต่ทั้งปีได้สะดุด และการคาดการณ์หลายหน่วยงานจีดีพีทั้งปี 68 หายไป 1% เหลือเพียง 1.2-1.8% เท่านั้น ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การกระตุ้นด้วยการเพิ่มกำลังซื้อต้องชะลอออกไปก่อน ซึ่งงบประมาณปี 68 ที่มีอยู่ 1.57 แสนล้านบาท ที่จะต้องทำในช่วง 3 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างวางกรอบ กลั่นกรอง และเชื่อมงบกับปี 69 และปีงบ 70 ทั้งเรื่องน้ำ ภาคเกษตร ถนน ขนส่ง และท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังได้คุยกับกองทุนฯ หารือในเรื่องนโยบายนการลงทุนใหม่ๆ ว่าจังหวะดัชนีหุ้นไทยแบบนี้จะสามารถเข้ามาลงทุนได้อย่างไร จึงอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎระเบียบและกติกา ทบทวนให้กองทุนและประกันขนาดใหญ่มีเงินจำนวนมากให้มาลงทุนในหุ้นได้ เพราะปัจจุบันไปลงทุนแค่พันธบัตรรัฐบาล

นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมายที่สำคัญ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำอย่างไรให้สนับสนุนมองระยะยาว โดยมีโครงการ Jump+ มองว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครสร้างประเทศ รองรับทิศทางโลก เช่น เรื่องกรีน หรือ ESG และปรับปรุงกฎหมายที่สร้างความเชื่อมั่น เช่น การลงโทษเอาผิดกับ Naked short ถ้าตรวจสอบได้ มีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา รวมทั้งรัฐบาลไทยได้รับสนับสนุนการออกพันธบัตร G Token เป็นการสร้างทางเลือกการลงทุนใหม่

“เชื่อว่าเสน่ห์หุ้นไทยมีอยู่ ตราบใดที่เข้าใจพื้นฐาน และไทยเป็นหลุมหลบภัยที่ดี แต่นักลงทุนส่วนใหญ่หยุดดู wait and see ทุกคนไม่ได้ทิ้ง แต่ดูว่าไทยทำอะไรต่อไป โดยตราบใดที่เชื่อว่าตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเชื่อว่ายังมีเสน่ห์”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 เครือข่ายพันธมิตรธุรกิจแห่งประเทศไทย      ติดต่อเรา   SiteMap