“แบงก์ชาติ” ส่งหนังสือถึงครม. ทบทวนใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท

2025-05-28 IDOPRESS

“แบงก์ชาติ” ส่งหนังสือถึงครม. เห็นด้วยทบทวนใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท หนุนมาตรการช่วยเอสเอ็มอี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยโยกงบประมาณที่จะใช้กับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 มาดำเนินโครงการอื่นแทนนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งว่ากระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท และขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.โดยด่วน ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้เสนอความเห็นมายัง ครม. มีเนื้อหาว่า ธปท. เห็นด้วยกับการทบทวนแผนการใช้งบประมาณให้สอดรับกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทันท่วงที และไม่ขัดข้องกับหลักการของแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการรักษาระดับการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคการผลิตและการส่งออกที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการประกาศนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ของประเทศมหาอำนาจ

ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่า ควรให้น้ำหนักกับการบรรเทาผลกระทบและสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจมากขึ้นด้วย โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้

1. ควรจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเดือดร้อนต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่  1.กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไปสหรัฐ รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง  2.กลุ่มผู้ผลิตที่จะถูกกระทบจากการทะลักของสินค้าจากต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่ไทยเผชิญอยู่ โดยตั้งแต่ ปี 2565-2567 การนำเข้าสินค้าขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ผลิตในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว


นอกจากนี้ควรมีโครงการที่ช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ควบคู่ไปด้วย 2.ควรมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับ import flooding เพราะถ้าไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน โครงการหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ อาจไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร โดยแนวทางการรับมือที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ 1.การบังคับใช้กฎหมายและการตรวจสอบที่เข้มงวดใน 3 ด้าน ได้แก่ การตรวจมาตรฐานสินค้า การตรวจสินค้าผ่านด่าน และการป้องกันสวมสิทธิสินค้าเพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่านในการส่งออก  2.การเร่งรัดกระบวนการไต่สวน ข้อพิพาทกับต่างประเทศ เรื่องการที่สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในไทย 3.การกำหนดให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าในไทยต้องจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและมีระบบชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมด้านภาษี โดยตั้งภาษีหรือกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้า หรือการเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 เครือข่ายพันธมิตรธุรกิจแห่งประเทศไทย      ติดต่อเรา   SiteMap